วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550

วิถีชีวิตของชาวภูไท

วิถีชีวิตของชาวผู้ไทย
ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวผู้ไทย ก็คงเหมือนกับครอบครัวไทยทั่วๆไป คือ ในครอบครัวหนึ่งๆก็จะมีพ่อเป็นใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ แม่ พี่คนโต และรองลงไปตามลำดับ
1.สังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ในอดีตเมื่อ 40 ปีย้อนลงไป สังคมผู้ไทยได้ให้ความสำคัญต่อผู้เป็นสามีมาก ในปัจจุบันก็ยังให้ความนับถืออยู่ เพียงแต่ลดพฤติกรรมบางอย่างลงไปบ้าง เช่น
การกราบ การสมมาสามีในวันพระ บางคนไม่ได้ทำเลยโดยเฉพาะภรรยารุ่นใหม่ แต่จะสมมาสามีตอน “ ออกคำ ” ( ออกจากการอยู่ไฟ ) ใหม่ๆทุกครั้งเหมือนในอดีต ที่สมมาตอนออกคำใหม่ๆ ก็เพราะสามีเป็นผู้ลำบากทุกข์ยาก อดตาหลับขับตานอน ตักน้ำหาฟืน ดูแลภรรยาที่อยู่คำ ( เพราะฉะนั้นการอยู่คำนี้ภาษาลาวจึงเรียกว่า “ อยู่กรรม ”)
การสมมาในวันพระลดลงมาก บางคนไม่ทำเลย เพราะว่าเศรษฐกิจรัดตัว ทั้งผัวทั้งเมียต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ผู้ออกจากบ้านบ่อยและกลับดึก คือ สามีนอกเรื่องงานแล้วอาจจะเป็นกิจกรรมของหมู่บ้าน เช่น ประชุมประจำเดือน ประชุมเตรียมการทำบุญ หรือติดงานด้านอื่นๆทำให้กลับบ้านดึก ภรรยาจึงนอนก่อน แต่ก่อนภรรยาต้อง “ ตื่นก่อนนอนหลัง ” จึงได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อไม่ได้สมมาบ่อยๆเข้า ก็เลยเลิกไปโดยปริยาย
การกราบสามีก่อนนอนก็เช่นกัน บางคนเอาปลายผมตัวเองเช็ดเท้าสามีในปัจจุบันเหลือน้อยแล้วจนแทบจะไม่มี จนจะเหลือแต่เพียงเรื่องเล่าที่เลิกไปก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว
การกินข้าว แต่ก่อนต้องพร้อมกัน เมื่อทุกคนนั่งวงล้อมนาข้าวแล้วให้สามีเริ่มก่อนเดี๋ยวนี้ลดลง เพราะต่างมีธุระลูกก็รีบไปโรงเรียน สามีก็ติดธุระก็อนุญาตลูกเมียกินก่อน นานๆเข้าก็เลยถือเป็นเรื่องธรรมดาไป แต่ก็มีแบบเดิมให้เห็นอยู่ไม่มากการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มมีมาประมาณ 30 ปีมาแล้ว อีกประการหนึ่งที่เปลี่ยนไป คือ เดี๋ยวนี้มีความเจริญขึ้นมาก หญิงชายมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ทั้งสามีภรรยาต่างมีบทบาทในครอบครัวเท่ากัน ช่วยกันทำมาหากินไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากัน เช่น ทั้งสามีภรรยาต่างเป็นข้าราชการ แต่อย่างไรก็ตามภรรยาก็ยังให้ความนับถือสามีอยู่ ถึงแม้ลด พฤติกรรมบางอย่าง แต่ด้านอื่นยังไม่เปลี่ยนแปลง เช่น การให้ความห่วงใย เอื้ออาทร ปรนนิบัติ ก็ยังมีเหมือนเดิม
บรรดาลูกๆทั้งหลายต้องให้ความเคารพพ่อแม่ ไม่กระด้างกระเดื่อง มิเช่นนั้นแล้ว “ มันละลุ้ยละลง ส้างกึ๋นมิหึ้น ส้างเพงโห เจินลงเพงตี๋น ” ( มันจะเสื่อม ทำกินไม่ก้าวหน้า สร้างสูงถึงศีรษะ ทะลายลงถึงตีน )
2. การสืบสายตระกูล ชาวผู้ไทยส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นหลักในการสืบสายตระกูล ในการสืบมรดกนั้นในอดีตมักจะให้ผู้ชาย เพราะถือว่าลูกผู้หญิงต้องไปสมสร้างกับสามี บรรดาลูกชายคนที่จะได้มรดกมาก แบ่งเป็นดังนี้
1.พี่จะได้มากกว่าน้อง คือ “ อ้ายเอาสอง น้องเอาหนึ่ง ” เพราะมรดกต่างๆ เช่น ที่นา ถือว่าพี่เป็นคนช่วยพ่อทำมากกว่าน้อง นอกจากนี้พี่ยังเป็นคนเลี้ยงน้องด้วย
2.ผู้ที่รับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่มากย่อมได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพี่หรือเป็นน้อง ถ้าเป็นผู้ดูแลพ่อแม่จนพ่อแม่ตาย มรดกส่วนที่ยักไว้ของพ่อแม่ย่อมเป็นของผู้ที่เลี้ยงดูนั้น เพราะเลี้ยงดูพ่อแม่จน “ เหม็นกับเข่า เน่ากับตัก ” และ “ ไง้เงินเอาะ เทาะถงเท ” (ใช้เงินจัดการศพ จนขอดเกลี้ยงกระเป๋า)แต่ก็เหมือนกันที่พ่อแม่ให้ลูกสาวเป็นผู้มาเลี้ยงดูตน หรือไปอยู่กับลูกสาว ลูกสาวรับภาระในการเลี้ยงดู ลักษณะนี้ลูกสาวย่อมได้มรดกมากกว่า ( แต่จำนวนพ่อแม่ที่อยู่กับลูกชายมีมากกว่าอยู่กับลูกสาว ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ) มีการให้มรดกแก่ลูกสาวอีกวิธีหนึ่ง คือ การ “ กาวลำชาย ” ( กล่าวเอาว่าเป็นลูกชาย ) คือ ในกรณีที่ลูกสาวแต่งงานออกเรือนไปอยู่กับสามีแล้วเกิดตกทุกข์ได้ยากสิ้นไร้ไม้ตอก ผู้เป็นพ่อก็เอามา “ กาวลำชาย ” ให้รับมรดกได้ “ การกาวลำชาย ” นั้นจะกล่าวตอนมีหญิงสาวที่มีนามสกุลเดียวกันกับพ่อ ( คือ พี่น้อง ลูกหลานของพ่อ ) แต่งงานก็จะกล่าวในงานแต่งงาน โดยแจกไม้ขีดไฟให้ “ เท้าอ้ายเท้าน้อง ” ( ผู้เฒ่าผู้แก่ฝ่ายพ่อ ) และบรรดาเขยทั้งหลาย แล้วประกาศให้ทราบว่า “ นาง... ต่อไปนี้จะกล่าวถือว่าเสมือนเป็นลูกชาย... ให้ญาติพี่น้องรับทราบไว้ ” เมื่อกล่าวแล้ว นาง ... ก็มีสิทธิรับมรดกจากพ่อ และบางคนเมื่อถูกกล่าวลำชายแล้วหันมาใช้นามสกุลของพ่อก็มี ในปัจจุบันนี้การสืบสายตระกูลสืบมรดก ลูกทุกคนมีสิทธิได้รับแบ่งเท่าเทียมกันแต่จะยักไว้ “ พูดพ่อแม่ ” (ส่วนของพ่อแม่ ) ไว้ให้ผู้ที่เลี้ยงพ่อแม่จนตาย
ขนาดครอบครัว ในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อนยังไม่มีการวางแผนครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ บางครอบครัวมีลูกตั้ง 10-12 คน ใครมีลูกมากยิ่งดีจะได้ “ กินแฮง ” ( กินแรง ) ลูกคือ จะมีผู้มาเลี้ยงดู เวลามีการแต่งงานจะมีการให้พรคู่บ่าวสาวว่า “ ...เฮ่อได้ลุเต๋มบ้านเฮ๋อได้หลาน เต๋มเมิง... ” ( ให้ได้ลูกเต็มบ้าน ให้ได้หลานเต็มเมือง ) แต่ในปัจจุบันทนกระแสกดดันทางเศรษฐกิจไม่ไหว เมื่อมีการรณรงค์การคุมกำเนิด จึงมีการคุมจำนวนลูกให้ได้ตามต้องการ บางครอบครัวก็มีลูก 2 คน บางครอบครัวก็มีแค่คนเดียว
ครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย ในสมัยก่อน 30 ปีมาแล้ว ผู้ที่แต่งงานแล้วจะอยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อตาแม่ยายเสียก่อน ชั่วระยะ 2-3 ปี แล้วจึงค่อยแยกครอบครัวออก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลง คือ พอแต่งงานอยู่กับพ่อแม่ชั่วระยะเดี๋ยวเดียวก็ออกไปนั้น จะแยกกล่าวดังนี้
ลูกชาย ในสมัยก่อนนั้นการหาเงินทองยังไม่คล่องเหมือนทุกวันนี้ รับจ้างถางสวน หรือดำนา หรืองานอื่นๆ ก็เพียงวันละ 5 บาท ดังนั้นเมื่อลูกชายแต่งงานแล้วต้องอาศัยอยู่กับพ่อเสียก่อน เพราะต้องพึ่งพ่อแทบทุกอย่าง เงินทองก็ยังไม่มีต้องอาศัยพ่อแม่ เวลาที่จะออกเรือนแยกไปไม่แน่นอน หากน้องชายแต่งงานเร็ว พี่ชายก็จะแยกเรือนออกไปเร็ว เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป ความเจริญเข้ามาแนวทางหาเงินมีมาก ลูกชายก็เลยหาเงินเอาเอง ( บางทีพ่อแม่ได้อาศัยลูกซ้ำ ) สร้างฐานะได้ไว จึงแยกครอบครัวได้ไว
ลูกเขย ไม่มีความจำเป็นแล้วไม่มีใครอยากจะ “ ชูพ่อเฒ่า ” เลย เพราะทุกข์ยากทั้งกายและใจ สำรวมทุกอริยาบท ต้อง “ คะลำ ” หลายอย่าง ทำงานสารพัด จนมีคำพูดว่า “ เล็กอยู่เฮินว้าเขย ” ( เหล็กอยู่เรือนเรียกว่า พร้า ข้าอยู่เรือนเรียกว่า เขย ) เสมือนว่าเขยคือขี้ข้าคนหนึ่งในเรือน ความทุกข์ยากของเขยชูพรรณาไว้เป็นผญาอีสาน ดังนี้
“ เป็นเขยนี้ทุกข์ยากหัวใจ
เฮ็ดแนวใดย่านแต่เพิ่นว่า ( ทำอะไรกลัวแต่ท่านว่า )
สานกะต่ากะด้งกะเบียน
อยู่ในเฮือนมุมุบมุม้าย ( อยู่ในเรือนแบบเจียมตัว ก้มหน้าอยู่ )
บ่ว่าฮ้ายมันแม่นอีหลี ( ไม่ได้ใส่ความ เพราะมันเป็นความจริง )
แต่หัวทีเกินอุกเกินอั่ง ( ในหัวคิดมีแต่ความกลัดกลุ้ม )
นั่งบ่อนใดย่านแต่ผิดแม่เฒ่า ( นั่งตรงไหนกลัวแต่ผิดแม่ยาย )
ชาวมือกะบ่ติง ( 20 วันก็ไม่ไหวติง ( อยู่อย่างเจียมตัว ))
เถิงบาดยามกินข้าวสองสามคำกะพัดอิ่ม ( ยามกินข้าว 2-3 คำก็อิ่ม )
ชิมอันนั้นอันนี้หนี้จ้อยบ่อยู่คน ( ชิมถ้วยนั้นถ้วยนี้หนีไปไม่อยู่นาน )
ฝูงหมู่คนกินข้าวนำกันก็เหลียวเบิ่ง ( ฝูงหมู่คนกินข้าวด้วยกันก็เหลียวดู )
ส่งบาดยุ้มบาดแย้มแนมเจ้าว่าจังใด ( ส่งยิ้มเป็นนัยๆว่าเจ้าเขยเป็นอย่างไรท่วงทีละอายหรือเปล่า)”
สมัยก่อนเขยชูต้องจำใจอยู่ เขยชูที่ทุกข์ยากมาขอ “ ชู ” พ่อตานี้มีโอกาสได้ออกเรือนต่างหาก คือ เมื่อตั้งตัวได้ก็ขอออกเรือนไปเลย ( หมายถึงว่า 2-3 ปีจึงออก) แต่ประเภทที่พ่อตามีลูกคนเดียวเป็นลูกสาว หรือมีลูกสาวเดียว ลูกชายออกเรือนไปอยู่ต่างหาก พ่อตาต้องการให้ลูกเขยมาเลี้ยงจึงให้มาเป็นเขยชู ประเภทนี้ต้องอยู่กับพ่อตาแม่ยายตลอดไป ถ้าพ่อตาไม่ให้ออกเรือนก็ต้องชูตลอดไป จนพ่อตาแม่ยายเสียชีวิตแต่ก็คุ้มเพราะมรดกพ่อตาเขยชูจะเป็นผู้ได้มากกว่า
ในปัจจุบันนี้เขยชูประเภทที่ออกเรือนได้ จะออกเรือนเร็วกว่าอดีต เพราะความเจริญก้าวมาถึง การหาเงินหาทองเพื่อสร้างฐานะได้เร็วกว่าดังได้กล่าวมาแล้ว ถึงแม้จะมีการชูพ่อเฒ่า พ่อเฒ่าก็หัวสมัยใหม่พยายามทำให้ลูกเขยอยู่อย่างสบายใจเป็นกันเอง แต่อยู่ในครอบครัวของสังคมทั่วไปสำหรับฮีตสำคัญก็ยังปฏิบัติอยู่ เช่น ห้ามกระทำบางอย่างบนบ้านพ่อตา เช่น ลับพร้า ขัดฟักพร้า ดีด สี ตี เป่า ร้อง รำ ทำเพลง จับมือถือแขนน้องสาวภรรยายังห้ามทุกกาลเทศะ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ส่งความคิดเห็น
http://swangkahart.blogspot.com/2007/08/blog-post_08.html