วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ยารักษาโรค ชาวภูไท

ยารักษาโรค ในอดีตการแพทย์การสาธารณสุขยังไม่เจริญ ยังไม่กว้างขวาง ชาวผู้ไทยเมื่อเจ็บป่วยก็ทำการรักษาเยียวยากันตามมีตามเกิด ตามความเชื่อ หรือตามความรู้ทางด้านสมุนไพร การรักษาด้วยสมุนไพรนี้อาศัยความรู้และประสบการณ์ของบรรพบุรุษสืบทอดต่อๆกันมา บางคนมีความรู้มากในด้านสมุนไพรรักษาโรค จนสามารถประกอบอาชีพรักษาโรคด้วยสมุนไพรได้ ผู้ไทยเรียกว่า “ หมอฮะไม้ ” ( หมอรากไม้ ) และยังมีหมอเฉพาะโรคด้วย เช่น หมอกระดู หมอหมากไม้ ( รักษาผู้ที่ไข้หมากไม้ ) เป็นต้น
วัสดุและแหล่งที่มา วัสดุก็เป็นพืชต่างๆและบางอย่างก็ได้จากสัตว์ ซึ่งหาได้จากป่าและ ภูเขาใกล้บ้านนั่นเอง
การใช้ ตัวยาสมุนไพรที่ได้จากพืชมีการใช้ไม่เหมือนกัน บางชนิดใช้ราก บางชนิดใช้ลำต้น บางชนิดใช้ทั้งราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และวิธีใช้ก็มีทั้งต้ม แช่น้ำ ฝน อาบ ดื่ม ทา แล้วแต่โรคและแล้วแต่สมุนไพร
ความเชื่อเรื่องยารักษาโรค หมอรักษาโรคในอดีตนั้นยังมีความเชื่อในเรื่องของกระบวนการรักษาหรือฮีตคลองอยู่ ถ้าผิดฮีตแล้วจะรักษาไม่หาย แต่หมอจะพูดว่า “ ผิดครู ผิดคาย ” คำว่า “ คาย หรือค่ายกครู ” ซึ่งจะขอแยกกล่าวกระบวนการดังนี้
1. การไปหาหมอต้องมีดอกไม้เทียนคู่ คือ ดอกไม้ 1 คู่ เทียน 1 คู่ ไปหาอย่างกิจลักษณะจนถึงบ้าน ยกเว้นจำเป็นจริงๆพบกันที่กลางบ้านก็พากันที่กลางบ้านเลยก็ได้ แต่ต้องมีดอกไม้เทียนคู่ดังกล่าว
2. ฝ่ายผู้ป่วยต้องแต่งคาย จำนวนเงินใส่ในคายตามที่หมอบอก เงินใส่คายนี้จะเกิดที่ครูบอกไม่ได้ เช่น 6 สลึก 12 บาท เป็นต้น ส่วนค่าป่วยการของหมอนั้นแล้วแต่ฝ่ายผู้ป่วยจะให้ ค่าป่วยการผู้ไทยเรียกว่า “ ค้าเซิงติ๋น ” ( ค่าเชิงตีน ) และหมอรากไม้ทุกคนมักจะมีมนต์ในการรักษาด้วย
3. รื้อคาย จะรื้ออยู่ 3 กรณี คือ คนไข้หาย คนไข้ไม่หาย คนไข้ตายก็รื้อได้
4. เครื่องยาบางอย่างมีข้อ “ คะลำ ” อยู่ตั้งแต่การไปหา การใช้ เช่น น้ำมันงา ห้ามหญิงแตะต้อง การคั้นน้ำมันงาต้องให้ผู้ชายหา เมื่อนำไปใช้ก็ต้องเก็บไว้ให้ดีไม่ให้ผู้หญิงไปถูกต้องหมอเช่นนั้นแล้วมันจะไม่ขลัง
ในปัจจุบันนี้ผู้ที่เป็นหมอรากไม้หายากแล้ว เนื่องจากการสาธารณสุขและโรงพยาบาลได้แผ่กว้างออกไปถึงชนบท ผู้ป่วยเป็นไข้จะไปโรงพยาบาล จะมีก็เพียงผู้ที่รู้เกี่ยวกับสมุนไพรรากไม้บางอย่าง และหาต้มดื่มเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเท่านั้น
หมอเป่า หมอทรง หมอธรรม ในกลุ่มชาวผู้ไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏมีผู้มีอาชีพแพทย์แผนโบราณโดยเฉพาะ มีเพียงผู้มีความรู้เรื่องสมุนไพร รากไม้ รากยา พอช่วยเยียวยาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วได้ค่าตอบแทนเล็กๆน้อยๆพอเป็นสินน้ำใจ ถ้าทางฝ่ายคนไข้ไม่มีเงินก็รักษาฟรีเอาพี่เอาน้องไว้
ในอดีตยังมีหมออีกประเภทหนึ่งที่รักษาคนไข้ด้วยการใช้คาถาเป่า ( เรียกว่า หมอเป่า ) คนป่วยเป็นไข้ ตกต้นไม้ ควายชน แข้งหักขาบวมช้ำ หมอก็ใช้คาถาเป่าได้ ( ส่วนจะหายจริงเพราะคาถาเป่าหรือไม่นั้นไม่ขอยืนยัน ) ซึ่งชาวบ้านในอดีตมักจะไปหามหมอมาเป่า ในเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยในสมัยอดีตมักจะโยนให้ผี ที่ถูกใส่ความบ่อยที่สุด คือ ผีปอบ และผีป่า
ผีปอบ คือ คนที่เรียนคาถาประเภทเดรัจฉานวิชา และ “ คะลำ ” ถือปฏิบัติตามที่ครูบอกไม่ได้ เมื่อเป็นปอบแล้วจะมีวิญญาณลึกลับอยู่ในตัวคนนั้น และเป็นวิญญาณร้ายที่ออกหากินคน ผู้ที่ถูกกินจะป่วยลง เมื่อหาหมอเป่าคนป่วยก็จะเพ้อออกมาว่าเป็นผู้นั้นมาเข้า การที่คนป่วยเพ้อออกมาผู้ไทยเรียกว่า “ เอาะป้ะ ” ( ออกปาก ) หมอเป่าก็จะใช้คาถาเป่าคุมจนปอบยอมออกจากร่าง เมื่อปอบออกจากร่างแล้วคนไข้ลุกขึ้นนั่งเดินได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นป่วยนอนซมอยู่ไปไหนมาไหนไม่ได้
ผีป่า เป็นผีที่สิงสถิตอยู่ในป่า ต้นไม้ใหญ่ ถ้าคนไปทำผิด เช่น ไปตัดไม้หรือไปกวนบ่อน้ำในแหล่งน้ำซับกลางป่า หรือของป่าบางอย่าง หรือไป “ ปากเสียงก้องร้องเสียงดัง ” ผีป่าก็จะเข้าทับร่างทำให้เป็นไข้ได้ป่วย หรือบางทีเห็นหญิงสาวสวยผีป่ารักก็เข้ามาทับร่างได้เหมือนกัน อาการป่วยก็เหมือนผีปอบ แต่พอเป่าคนไข้เพ้อไปทางป่าว่าอยู่ที่นั่นต้นไม้นั่น หนองน้ำนี่ “ พวกสูไปรื้อบ้านกู ” ( ตัดต้นไม้ ) เป็นต้น หมอก็จะคุมจนออกเช่นกัน
หมอทรง เป็นหมอที่ทำพิธีอัญเชิญวิญญาณต่างๆตามที่ผู้มาหาบอก เพื่อให้เข้าร่างหมอทรงแล้วจะได้บอกกล่าวเรื่องราวระหว่างวิญญาณกับผู้มาหาหมอ
หมอธรรม เป็นหมอที่นั่งทรงทางในเพื่อดูดวงชะตา หรือสิ่งที่มากระทำต่อคนใดคนหนึ่งที่มาหาหมอ หรือไล่เลขไล่ยาม ผู้ไทยเรียกว่า “ นั่งธรรม ” หมอธรรมจะเป็นสื่อระหว่างวิญญาณกับคน คล้ายหมอทรง แต่ไม่มีพิธีสลับซับซ้อนเท่าหมอทรง
การเหยา เป็นพิธีกรรมในการรักษาคนป่วยตามความเชื่อของคนอีสาน ไม่เฉพาะแต่เผ่าผู้ไทย ชาวอีสานเชื่อว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็เนื่องมาจากถูกผีกระทำ อาจจะเป็น ผีดง ผีป่า ผีแถน ผีปอบ ผีเป้า ผีบรรพบุรุษ ( อีสานว่า ผีเชื้อ ) หรือถูกคุณไสย ผู้ที่เก่งกล้าสามารถในการขจัดปักเป่าความเจ็บความไข้ออกไปได้ คือ หมอเหยา และหมอเป่า
หมอเหยากับหมอเป่านี้ต่างกัน คือ หมอเป่าจะใช้คาถาเป่าขับไล่ผีให้ออกเลย แต่หมอเหยาใช้ไม้นวม คือ พูดจาหว่านล้อมด้วยถ้อยคำอ่อนหวานและเป็นทำนองเหยา ( คล้ายลำ )

ไม่มีความคิดเห็น: