วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ภาษาภูไท

ภาษา
เนื่องจากเป็นบ้านของชาวผู้ไทย ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาผู้ไทยและยังคงรักษาภาษาผู้ไทยไว้ได้ด้วยดีตลอดมา
ภาษาผู้ไทยเป็นภาษาที่พูดแปร่งไปจากภาษาลาวและภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาเขียนได้ เพราะหลายคำเสียงไม่ตรงกับวรรณยุกต์ใด นอกจากจะฟังด้วยหูเท่านั้น จะยกตัวอย่างคำบางคำที่พอจะอธิบายเป็นภาษาเขียนได้พอใกล้เคียง ดังนี้
1. คำที่มีสระ เ-ีย , เ-ือ , -ัว จะเป็นสระ เ-, เ-อ, โอ เช่น
เมีย – เม , เขียน – เขน , เขียด – เคด ,
เสื่อ – เสอ , เลือด – เลิด , เมือง – เมิง ,
ผัว – โผ , ด่วน – โดน , สวน – โสน
2. สระ ไ, ใ, -ัย บางคำจะเป็นสระ เ-อ เช่น
ใต้ – เต้อ ( เสียงแปร่งอยู่ระหว่างวรรรณยุกต์เอกและโท คือ .่......)
ใส่ – เชอ
ให้ ( สิ่งของ ) – เห้อ ( เสียงแปร่ง )
ใหม่ – เมอ
3. พยัญชนะ ข บางคำจะเป็นตัว ห เช่น
เขียง – เหง
ขาย – หาย
ของเขา – หองเหา
เขา ( สัตว์ ) – เหา
4. พยัญชนะ ร จะเป็น ฮ เช่น
เรือ – เฮือ เรือน – เฮือน รอย – ฮอย
ร้อง – ฮ้อง รีบ – ฮีบ
5. บางคำที่สะกดด้วย ก. ไก่ จะไม่มีเสียงตัวสะกดและสระจะเป็นสระเสียงสั้น เช่น
แตก – แต้ะ แบก – แบ้ะ ผูก – พุ
สาก – ซะ ปาก – ป้ะ
6. บางคำที่มีเสียงสระ –ึ จะเป็นเสียงสระ เ-อ เช่น
ลึก – เล็ก ผึ้ง – เผิ่ง ( เสียงแปร่ง = .่...๋...้.)
7. บางคำมีคำเรียกเฉพาะที่ไม่มีเค้าทางภาษาไทยเลย เช่น
สิ่งของหาย – เฮ้ หายเจ็บหายไข้ – ดี๋เจ็บดี๋ไข้ ( แปร่ง )
ท้ายทอย – กะด้น ( แปร่ง ) หัวเข่า – โหโค้ย
ผิดไข้ – มึไข้ ( แปร่ง ) ตาตุ่ม – ป๋อมเพอะ
ไปไหน – ไป๋ซิเลอ ผู้ใด – ใคร – เพอ
อยากกินข้าว – เยอะกิ๋นข้าว ( แปร่ง )
ฯลฯ
คำว่า บางคำ นั้น หมายถึงว่าไม่เป็นเช่นที่กล่าวมาทุกคำ ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง มีลาวอีสานที่มาอยู่ถิ่นผู้ไทยใหม่ๆก็หัดเรียนภาษาผู้ไทย ตอนสระไอเป็นสระเออ ผู้สอนคงไม่บอกข้อยกเว้น พอแกเหลียวไปเห็นไก่ตีไก่ก็ร้องลั่นขึ้นว่า “ นั่นเกอตี๋เกอ ” ก็เลยเกิดฮาครืนขึ้นมา เพราะว่า “ ไก่ ” ก็เรียกว่าไก่อยู่ แต่ตัดไม้เอกออกเป็น “ ไก่ ” ( แปร่งนิดๆ )
หากนำคำภาษาผู้ไทยมาเปรียบเทียบกับภาษากรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่งมีการติดต่อกันไม่นานผ่านทางวิทยุโทรทัศน์ ก็พบว่าคำในภาษา 2 กลุ่มนี้มีเหมือนกันถึงร้อยละ 36.73 คล้ายกันร้อยละ 36.05 คำที่คล้ายกันมีทั้งคล้ายกันมาก เช่น ไก่ – ไก ตา – ต๋า นิ้วกลาง – นิ้วกาง ปืน – ปื้น บางคำก็คล้ายกันมนระดับปานกลาง เช่น ปาก – ปะ เสื้อ – เชอ บางคำก็คล้ายกันเล็กน้อย เช่น แขน – แหน ขา – หา บันได – คันได๋ บวบ – มะโบ้บ ส่วนที่ต่างกันมีร้อยละ 27.21 เช่น มะละกอ – มะฮุง ฟักทอง – มะจู้บ ส้มโอ – มะเก๊ง พระ – ญาคู เณร – โจ๋น้อย ช้อน – โบง ทำ - เอ๊ด หากรวมคำที่เหมือนและคล้าย พบว่ามีถึงร้อยละ 72.78 จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาษาผู้ไทยกับภาษากรุงเทพฯเป็นภาษาตระกูลเดียวกันอย่างแน่นอน ส่วนคำที่แตกต่างกันนั้นเป็นไปได้ว่าช่วงที่คนไทยรวมอยู่ใกล้กันยังไม่ได้รับศาสนาพุทธ จึงเรียกคำว่าพระและเณรต่างกันมาก ต่างกลุ่มก็เรียกต่างกันไป
เช่นเดียวกับผักผลไม้บางชนิดที่เรียกต่างกันมาก ดังที่ได้ยกมาข้างบน เป็นไปได้ว่าช่วงที่คนไทยรวมอยู่ด้วยกันไม่มีมะละกอ ฟักทอง ส้มโอ ต้นไม้ 3 ชนิดนี้คนไทยอาจรับเข้ามาภายหลังที่แยกตัวออกไปตามที่ต่างๆแล้ว
ส่วนคู่เปรียบเทียบคำในภาษาผู้ไทยกับภาษาไทยอีสาน ก็พบว่าเหมือนกันร้อยละ 37.67 คล้ายกันร้อยละ 52.14 หากรวมเข้าด้วยกันเท่ากับร้อยละ 89.81 ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างไม่ต้องสงสัยว่า ภาษาผู้ไทยกับภาษาไทยอีสานเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน และเป็นกลุ่มที่ใกล้กันมาก มีแตกต่างกันเพียงร้อยละ 12.86 จึงเป็นไปได้มากกว่าคน 2 กลุ่มนี้อยู่บริเวณเดียวกันมาก่อน ดังที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองแถง มาแยกกันเมื่อคนลาวอพยพมาตั้งรกรากในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงจากหลวงพระบางลงมาทางเวียงจันทน์และแอ่งสกลนคร ส่วนกลุ่มผู้ไทยก็ยังอยู่บริเวณสิบสองจุไท และยังขึ้นกับลาวตลอดมาด้วยภาษาจึงใกล้เคียงกันมาก
ส่วนคู่เปรียบเทียบคำในภาษาผู้ไทยกับภาษาไทยดำ มีคำเปรียบเทียบกันน้อย แต่ศึกษาผ่านงานของผู้อื่น จากคำทั้งหมด 89 คำ พบว่าเหมือนกันร้อยละ 34.83 คล้ายกันร้อยละ 44.94 รวมร้อยละ 79.77 แตกต่างกันเพียงร้อยละ 20.22 จึงอาจสรุปได้ว่าภาษาของคน 2 กลุ่มนี้ตระกูลเดียวกันและคงอยู่บริเวณเดียวกันมาก่อนด้วย แต่ได้แยกกันมา 200 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มผู้ไทยบ้านหนองโอใหญ่นี้แยกจากเมืองแถงไปอยู่เมืองวัง เมืองคำอ้อ แล้วจึงอพยพมาอยู่ที่อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ส่วนผู้ไทยดำกลุ่มที่ให้ข้อมูล แยกจากเมืองแถงไปอยู่เชียงขวาง จากเชียงขวางไปอยู่บ้านอีไล ในแขวงเวียงจันทน์และในที่สุดก็อพยพมาอยู่ที่ศูนย์ผู้อพยพจังหวัดหนองคายในปี 2518 ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ศตวรรษที่ 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ติดต่อกันและต่างฝ่ายก็รักษาภาษาของกลุ่มที่อยู่ใกล้เคียง เช่น รองเท้า ผู้ไทยเรียก เกิ้บ แต่ผู้ไทยดำเรียก ฮาย ซึ่งน่าจะเป็นภาษาญวน ญวนเรียกรองเท้าว่า ไย่ บางคำอาจจะคิดขึ้นภายหลังจากแยกย้ายออกไปจากเมืองแถงแล้ว เช่น กระดุม ภาษาผู้ไทยเรียกว่า มะติง แต่ภาษาผู้ไทยดำเรียก มะห่อ แต่อย่างไรก็ตามคำหลักๆของสองภาษานี้คล้ายกันมาก

4 ความคิดเห็น:

nokki กล่าวว่า...

เป็นคนกรุงเทพค่ะ แต่สนใจภาษาถิ่นมาก ดีใจที่เห็นคนอนุรักษ์ภาษาถิ่นไว้ ชื่นชมด้วยใจจริงนะ ตัวเองพูดได้แค่ไทยกลาง ขอให้อนุรักษ์ภาษาถิ่นต่อไปนะคะ

ภาพเก่า ๆ ญาติพี่น้อง กล่าวว่า...

สระในภาษาภูไท
สระเอีย = สระ เอ เช่น เมีย = เม
สระเอือ = สระเออ เช่น มะเขือ = มะเขอ
ฯลฯ
แต่ก็มีคำแปลก ๆ เช่น ไปไหน ภาษาภูไทคือ ไป๋ซิเลอ , ไปทำอะไร ภาษาภูไทคือ ไป๋เอ็ดเผอ, ไปอย่างไร ภาษาภูไทคือ ไป๋แนวเลอ , ไปกับใคร ภาษาภูไทคือ ไป๋กับเพอ ,ถ่านไฟ ภาษาภูไทคือ เกาะมี้ ,จริง ภาษาภูไทคือ เพิ้ง , ครก ภาษาภูไทคือ ซก,
ค้างคาว ภาษาภูไทคือ บิ๊ง, น้ำครำใต้ถุนบ้าน ภาษาภูไทคือ ขี้ซีก, หัวเข่า ภาษาภูไทคือ หัวโค้ย, แขน ภาษาภูไทคือ แหน (เจ็บแหนเด้) ใต้ ภาษาภูไทคือ เต้อ มื้อนี้ เอาซำนี้ก่อนเนาะ

จาก ท้าวสามารถ

ภาพเก่า ๆ ญาติพี่น้อง กล่าวว่า...

แก้ไขหน้อยครับ หัวเข่า = หัวโค้ย เป็น โหโค้ย สระอัว ไม่มีในภาษาภูไทยครับ

ple_wang180 กล่าวว่า...

nokki แล้วไม่คิดจะเป็นสะไภ้ผูไทบ้างเหรอคับ