วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ที่อยู่อาศัย

ที่อยู่อาศัย สภาพบ้านเรือนของชาวผู้ไทยในอดีตนั้นจะแยกกล่าวดังนี้
รูปทรงและองค์ประกอบ
เรือนผู้ไทยในสมัย 40 ปี มาแล้วเป็นเรือนทรงมนิลา คือ มีหลังคาทรงเหลี่ยมยอดแหลมดั้งสูง ใต้ชานสูงประมาณ 2 เมตร มีฝาล้อมรอบ มีประตูหน้าบ้านเข้า 2 ประตู มีหน้าต่างแห่งเดียวเล็กๆพอเอาศีรษะลอดเข้าออกได้ ภาษาผู้ไทยเรียกว่า “ ประตูบอง” “ ถ้าเป็นบ้านของผู้มีฐานะหน่อยหน้าต่างจะสูงเท่าประตู ” ตรงหน้าต่างจะมี “ เสาปากช้าง ” หรือ “ เสาคาช้าง ” ค้ำทอดบ้านตรงหน้าต่าง ทอดบ้าน ภาษาผู้ไทย “ หอนทอด ” จะตีติดเสาคู่หน้าต่าง ลำตีเคร่าโดยเคร่านี้ข้างล่างจะตีตะปูติดทอด ข้างบนจะตีตะปูติดกับขื่อ แล้วฝา ( ทั้งฝาขัดแตะหรือฝากะดาน) จะตีติดเคร่า เสาคางช้างหรือปากช้างจะปาดเป็นบ่าค้ำทอดไว้เสาคางช้างหรือช้างจะเป็นเสาใหญ่กว่าเสาบ้านทุกต้น เป็นเสาโชว์พิเศษสลักเสาลวดลาย ปลายเสาจะปาดเป็นรูปกลีบบัวหรือกาบพรหมศร แต่ชาวผู้ไทยในอดีตอาจจะยังไม่รู้จักลายไทย เมื่อเห็นเป็นรูปคล้ายปากช้างหรือคางช้างก็เลยเรียกเสาคางช้างหรือเสาปากช้าง มีระเบียงยื่นออกมาด้านหน้า ภาษาผู้ไทยเรียกว่า “ เก๋ย ” หลังคาระเบียงถ้าต่อจากหลังคาเรือนใหญ่ลาดลงมาเรียกว่า “ หลังคากะเทิบ ” ถ้าหลังยกเป็นหน้าจั่วยอดแหลมเหมือนเรือนใหญ่จะเรียก “ หลังคาโหลอย ” ( หลังคาหัวลอย ) เรียกทั้งตัวบ้านว่า “ เฮินโหลอย ” ( เรือนหัวลอย ) ระหว่างหลังคาเรือนใหญ่และหลังคาหัวลอยจะมีรางน้ำซึ่งเจาะต้นไม้ทั้งลำ แบบหลังคากะเทิบจะเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะไม่คอยดี บ้านหลังคาหัวลอยหรือเรือนหัวลอยจะเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะดี สมันนั้นดูฐานะก็ดูที่ทรงบ้านก็พอจะรู้แล้วนอกจากนั้นก็ดูที่ฝาและหลังคา ถ้าฝาและหลังคาเป็นกระดานแสดงว่ามีฐานะดี ถ้าหลังคามุงด้วยหญ้า ฝาเป็นฝาขัดแตะแสดงว่าฐานะไม่ดี
“ เฮินซู “ ( เรือนสู่ ) เป็นบ้านอีกรูปทรงหนึ่งซึ่งสร้างแบบลวกๆง่ายๆ แบบ” เสาไม้เมาะ แตะไม้ลื่ม ” ( เสาไม้มอก ตอกไม้ลิ่ม – มอก คือ กระพี้ , ไม้ลื่ม คือ ไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่ ) เสาทำด้วยต้นไม้เนื้อแข็งที่ต้นยังเล็กอยู่ขนาดพอดีเป็นเสาโดยไม่ต้องถากเพียงแต่ปอกเปลือก ( เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 ซม. ) ตัดหัวท้ายยาวตามขนาดที่ต้องการ การเข้าไม้ประกอบเป็นตัวบ้านไม่ใช้ตะปู ( เพราะในอดีตไม่มีตะปู ) จะใช้ “ เคออู้ย ” ( เครืออู้ย – เถาวัลย์ชนิดหนึ่งเหนียวมาก ) และ “ เตาะไม้ลื่ม ” คือ เอาไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่ อายุประมาณ 10-12 เดือน มาจักเป็นตอกมัด ตอกไม้ลื่มนั้นมันจะเหนียวไม่เปราะเหมือนตอกไม้แก่ ( ไม้แก่ผู้ไทยว่า “ ไม้กล้า ”) ตัวไม้ทำโครงบ้านก็เหมือนบ้านโบราณดั้งเดิมทั่วไป คือ หลังคามุงหญ้าคา ฝาเป็น “ ฝาพะล่าน ” ไม่มีเกย ไม่มีชาย ไม่มีเรือนครัว เฮินซูเป็นบ้านที่เขยที่มาสร้างไว้ก่อนแต่งงานไม่นาน สร้างให้เฉพาะลูกเขยที่จะมา “ ซูพ่อเฒ่า ” ( สู่พ่อตา ) คือ ลูกเขยที่แต่งงานแล้วขออาศัยอยู่กับพ่อตาชั่วคราว เมื่อพอเลี้ยงตัวได้แล้ว หรือบางทีอยู่ 2-3 ปีก็ขยับขยายไปสร้างบ้านใหม่ในที่อื่น บางทีพ่อตากลัวลูกสาวลำบาก ลูกเขยสร้างบ้านใหม่ก็ให้สร้างบริเวณที่ดินพ่อตาเลย กล่าวถึงการสร้างเฮินซูนั้น เมื่อหาวัสดุพร้อมแล้วก็จะวานเพื่อนบ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือให้เสร็จภายในวันเดียว
สาเหตุที่มีการสร้างเฮินซู ก็เพราะสมัยก่อนบ้านพ่อตาก็หลังเล็ก ถ้าจะเอาเขยมาอยู่ด้วยก็จะดูคับแคบลงไปอีก จึงให้สร้างเฮินซูอยู่ในบริเวณที่ดินเดียวกันกับพ่อตา ถ้าพ่อตามีบ้านหลังใหญ่ก็ไม่ต้องตั้งเฮินซู พ่อตาก็จะให้กั้นห้องเอาที่เกยเลยก็ได้ ก็สบายไป ประมาณ 20 ปีมานี้ไม่เห็นมีการตั้งเฮินซูแล้วเพราะ
1.บ้านเริ่มเข้าสู่สมัยใหม่ พ่อตามีบ้านหลังใหญ่ เขยซูก็จะอยู่ร่วมบ้านเดียวกับพ่อตา โดยยกห้องใดห้องหนึ่งใหม่ให้
2.ไม่ค่อยมีการซูพ่อเฒ่า ในปัจจุบันนี้บ้านรูปทรงดังกล่าวนี้หายากแล้ว เพราะผู้ที่สร้างบ้านใหม่ก็จะสร้างตามสมัยนิยมกันหมด
ประโยชน์ใช้สอยบ้าน บ้านชาวผู้ไทยเมื่อสมัย 40 ปีมาแล้วแบ่งประโยชน์ใช้สอย ซึ่งแยกกล่าวทั้งส่วนสำคัญและส่วนประกอบ ดังนี้
ห้องใน ซึ่งเป็นตัวเรือนใหญ่ มีฝาล้อมรอบ มีประตูเข้า-ออก 2 ประตู มีหน้าต่าง 1 ช่อง ห้องนี้ในภาษาผู้ไทยเรียกว่า “ โก๋ง ” ภายใน “โก๋ง” จะกั้นเป็นห้องนอนอีก มี 1 ประตู ผู้ไทยเรียกว่า
“ โก๋งโส้ม ” สำหรับเป็นที่นอนของลูกสาว บางบ้านภายใน “โก๋งโส้ม ” อาจจะกั้นห้องหรือเอาตู้หรือกองผ้าห่มกั้นให้เป็นที่นอนของพ่อแม่ด้วย ข้างโก๋งโส้มอาจจะทางซ้ายหรือขวาก็ได้เรียกว่า “ ฮอง ” เป็นที่นอนของพ่อแม่หรือลูกชาย
ห้องนอกหรือเกย ภาษาผู้ไทยว่า “ เก๋ย ” ไม่มีฝา มีแต่หลังคาเป็นที่นั่งเล่นรับลมเย็น เป็นที่รับแขก เป็นที่รับประทานอาหาร หรือกั้นเป็นห้องให้ลูกเขยอยู่ “ เฮินไฟ ” ( เรือนครัว ) จะตั้งต่อจากเกยออกไป บางหลังคาเรือนอาจจะตั้งแยกออกไป มีเพียงกระดาน 1-2 แผ่นพาดเชื่อมกับเกย เนื้อที่ภายใน “ เฮินไฟ ” นั้นมีเตาไฟ เตาไฟมีลักษณะเป็นกะบะยกพื้นสูง สูงขึ้นจากพื้นเรือนครัวประมาณ 5-10 ซม. กว้างประมาณ 1*1 เมตร ขอบกะบะสูงประมาณ 1 คืบ ใส่ดินให้เต็มเพื่อป้องกันไฟไหม้พื้น ที่ก่อไฟนั้นอยู่กลางล้อมด้วยก้อนเส้า 3 ก้อน เป็นที่วางหม้อ หรือบางทีใช้ “ เคง ” ( เคียง ) คือ ที่วางหม้อเวลาต้มแกง เป็นที่วางที่เป็นเหล็กมี 3 ขา ด้านบนขาจะเชื่อมติดกับแผ่นเหล็กบาง งอเป็นรูปวงกลมเป็นที่สำหรับรับก้นหม้อ รอบตามฝาเรือนครัวจะวางสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระติบข้าว ตะกร้า ไหปลาร้า ไหเกลือ เป็นต้น เหนือเตาไฟจะมีห้างสูงประมาณระดับหน้าผาก มีไว้สำหรับห้อยเนื้อที่จะทำเนื้อแห้ง ห้อยข้อง ตะกร้าที่เพิ่งสานใหม่ๆ เรียกว่า “ ย่างคา” เพื่อป้องกันแมลงกินไม้ เช่น มอด มิให้มากินข้อง ตะกร้า ฯลฯ เหล่านี้
ชาน ( ซาน ) เป็นพื้นที่ต่อกับเกยหรือเรือนครัว มีไว้สำหรับวางตุ่มน้ำดื่ม น้ำอาบ น้ำใช้ ตรงริมชานมักจะวางรางผัก ชานนี้จะไม่มีหลังคา ไม่มีฝา พื้นชานจะต่ำกว่าเกยหรือเรือนครัว ที่ชานจะมีบันไดเรียกว่า “ ขั้นบันได๋ซาน ” ( บันไดชาน )
การใช้บริเวณบ้าน อดีตเมื่อ 40 ปีมาแล้วการใช้บริเวณบ้านของชาวผู้ไทยพอกล่าวได้ดังนี้
1. ใต้ถุนบ้านจะเป็นที่ผูกควาย คือ ทำเป็นคอกควาย โดยตีไม้ล้อมรอบ มีประตูซัด เอาเสาบ้านเป็นเสาคอกและมีเสาเสริมอีกเพื่อให้แข็งแรง
2. ทางหลังบ้านหรือทางข้างก็จะสร้าง “ เล้าข้าว ” ( ยุ้งข้าว ) ใต้ยุ้งข้าวจะทำเล้าไก่หรือเล้าหมู
3. หน้าบ้านบางทีก็ปล่อยโล่งไว้สำหรับนั่งผิงแดดหน้าหนาว เรียกกว่า “ ลานหน้าบ้าน ” มีปลูกไม้ยืนต้นบ้างพอเป็นร่มเงา เช่น มะม่วง ขนุน เป็นต้น
4. บางคนที่ไม่ชอบผูกวัวควายไว้ใต้ถุนบ้าน ก็ออกผูกนอกใต้ถุนข้างๆบ้าน เรียกว่า “ แลงควาย ” (แหล่งควาย) หรือ” แลงโง ” ( แหล่งวัว )
ความเชื่อเกี่ยวกับบ้าน ในอดีตชาวผู้ไทยยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับบ้าน ดังนี้
1. เกี่ยวกับไม้ที่จะนำมาสร้างบ้านนั้น จะห้ามเอาไม้ดังต่อไปนี้มาสร้างบ้าน
- ไม้ฟ้าผ่า ผู้ไทยเชื่อว่าไม้ที่ถูกฟ้าผ่านั้นเพราะ “ มันเข็ด มันขวง ” ( มันอัปปรีย์จัญไร ) ไม่ควรเอามาสร้างบ้าน
- ไม้แยงเงา ( ไม้ส่องเงา ) คือ ต้นไม้ที่อยู่ริมห้วย ลำต้นเอาเข้าหาลำห้วย ( อาจจะเป็นเพราะโค่นยาก ปล้ำยาก อันตราย )
- ไม้ที่ชื่อไม่เป็นมงคล เช่น ไม้กระบก คำว่า “ บก ” คือ บกพร่องลงไปหรือขาดเขิน นำมาสร้างบ้านจะทำให้สร้างไม่ขึ้น ขาดเขินอยู่เป็นประจำ
2. เกี่ยวกับการใช้บ้าน
- ห้ามวางพาข้าวหรือนอนใต้ขื่อ ยังหาคำอธิบายไม่ได้
- ศพจะวางไว้ใต้ขื่อ อันนี้คิดว่าตรงใต้ขื่อมันจะตรงกับคานของบ้านพอดี ซึ่งจะรับน้ำหนักของหีบศพได้ดีกว่าบริเวณอื่น
- ส่วนประกอบของบ้าน เช่น บันได จำนวนขั้นบันไดจะเป็นจำนวนคี่ เช่น 5 ขั้น 7 ขั้น 9 ขั้น เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: