วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550

เครื่องนุ่งห่ม ชาวภูไท

เครื่องนุ่งห่ม ถ้ามองย้อนอดีตให้ยาวนานออกไป จะเห็นว่าชาวผู้ไทยเป็นเผ่าที่ทำเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่ม คือ ผ้าห่ม จนเหลือใช้ ( แม้กระทั่งในปัจจุบันชาวผู้ไทยก็ยังทำผ้าห่มไว้มาก แขกมาเยี่ยมมาพักมีให้ห่มอย่างพอเพียง ) ส่วนเสื้อผ้าก็พอมีใช้ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ไม่ขัดสนและสิ่งเหล่านี้ล้วนทำได้เองด้วยฝีมือความสามารถของตนเอง ซึ่งบางอย่างสวยงามมีศิลปะ
แหล่งที่มา ในอดีตนั้นหามาเองโดยการปลูกขึ้นบ้าง เอาจากที่มีอยู่ตามธรรมชาติบ้าง โดยเริ่มตั้งแต่สภาพที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ผ่านกระบวนการต่างๆจนเป็นเครื่องนุ่งห่มล้วนหามาเอง ทำขึ้นเองทั้งสิ้นเช่น ฝ้าย เริ่มตั้งแต่การปลูก จนถึงขั้นทอเป็นผ้า ล้วนแต่ทำเอง ในปัจจุบันนี้มีโรงงานที่ทันสมัยที่ผลิตวัสดุที่จะทำเครื่องนุ่งห่มแล้ว ราคาไม่แพง สี ลวดลาย แบบ มีให้เลือกมากมายและหาซื้อได้ง่าย ทั้งในตลาดนัดในหมู่บ้านและในตลาด ทำให้การปั่นฝ้าย ( ผู้ไทยเรียกว่า “ เข็นฝ้าย ”) ของชาวผู้ไทยเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะมีแล้ว
วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องนุ่งห่ม วัสดุที่ใช้ทอผ้าก็มีฝ้ายเป็นหลักและไหม สีย้อมผ้าก็เป็นที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีแดงได้จากครั่ง ผลสะดี สีดำจากต้นคราม ผลมะเกลือ สีเหลืองได้จากแก่นขนุน เป็นต้นสีที่ชาวผู้ไทยชอบใช้มากที่สุด คือ สีดำที่ได้จากต้นคราม
การใช้ผ้า การใช้ผ้าของชาวผู้ไทยในอดีตนั้น ผ้าบางชนิดก็มีกาลเทศะในการใช้ เช่น “ ผ้าจ่อง ” เป็นผ้าที่ทออย่างดี สีย้อมด้วยครั่ง จะใช้คลุมหีบศพ ( ผู้มั่งมี ) ผ้าสี่เหาก็ใช้คลุมหีบศพได้เช่นกัน
เสื้อผ้าที่ตัดเย็บใหม่ๆจะไม่ใส่เล่นจะเก็บไว้ในหีบอย่างดี พอมีงานบุญจะเอาออกมาใช้ เสื้อผ้าใหม่ๆจึงมักจะเรียกว่า “ เสื้อเอาบุญ ” หรือ “ ส้งเอาบุญ ” หรือ “ ชุดเอาบุญ ”
โสร่งไหมเป็นผ้าชั้นดีหายาก จะมีเฉพาะผู้ที่มีเมียหรือแม่ที่เลี้ยงไหมหรือผู้ที่มีฐานะดีหน่อย สามารถนุ่งไปจีบสาวได้ เวลานั่งใกล้สาว จะถลกโสร่งขึ้นเลยหัวเข่าอวดขาลาย สมัย 60 ปีก่อนบ่าวใดมีขาลายผู้สาวจะรักมาก ส่วนผ้าขาวม้าเป็นผ้าอเนกประสงค์มาก
ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่มในทำนองที่จะเป็นไปอย่างนั้นจะเป็นไปอย่างนี้ไม่ค่อยมี การแต่งตัวตามสีตามวันผู้ไทยไม่ถือ จะเห็นแต่ผ้าคลุมหีบศพ เมื่อหามศพลงเรือนผ้าคลุมหีบจะปลดออกไว้ใช้ต่อไป แต่ก่อนจะนำมาใช้จะมีพิธีโยนผ้าก่อน ในปัจจุบันการโยนผ้าก็ยังปฏิบัติอยู่และมีข้อ “ คะลำ ” อันหนึ่ง คือ ห้ามนุ่งผ้าอยู่บนต้นไม้ ก่อนขึ้นต้นไม้ให้นุ่งผ้าให้ดีที่สุดก่อน แต่ขึ้นไปแล้วเกิดผ้าหลุดผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าไม่ให้นุ่งอยู่บนต้นไม้ โดยบอกว่า “ งูจะเกี้ยวแข้งเกี้ยวขา ” แต่อันนี้เป็นคะลำสำหรับเด็ก คือ ท่านกลัวตกต้นไม้ คือ ตอนนุ่งผ้ามือเราจะไม่ได้จับกิ่งไม้เลย กลัวจะพลัดตกตอนนั้น
ยังเป็นประเพณีของชาวผู้ไทยอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องนุ่งห่ม 4 อย่างนี้ คือ ผ้าห่ม ที่นอน หมอน ผ้าขาวม้า หญิงสาวชาวผู้ไทยต้องจัดสร้างขึ้นมาไว้มากๆยิ่งตอนใกล้จะแต่งงานจะเน้นเป็นพิเศษ เมื่อหนุ่มมาขอแล้วฝ่ายสาวต้องเร่ง “ ส้างเคิ้ง ” ( สร้างเครื่อง ) คำว่าสร้างเครื่องก็คือ สร้างเครื่องนุ่งห่ม
ในปัจจุบันนี้ก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่ เพียงแต่ว่าหญิงสาวทุกวันนี้ต้องเรียนหนังสือ หรือไม่ก็ไปทำงานต่างถิ่นไม่มีเวลาทำ เมื่อใกล้จะแต่งงานต้องเดือดร้อนแม่ที่กุลีกุจอสร้างให้ อาจจะให้ญาติๆช่วยทำ หรือจ้าง หรือซื้อสำเร็จรูป
การแต่งกายปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จนไม่มีคนแต่งกายแบบดั้งเดิมตามบ้านให้เห็นแล้ว ยกเว้นจะมีพิธีกรรมบางอย่าง เช่น เวลาจะเหยาเลี้ยงผีหรือกรณีพิเศษ เช่น ฟ้อนผู้ไทยให้แขกผู้มาเยือนได้ชม หรือไปฟ้อนตามที่หน่วยงานราชการขอมา ทุกวันนี้พากันแต่งกายตามสมัยนิยมกันแล้ว ผู้หญิงหันมานุ่งกางเกง เพราะว่าทะมัดทะแมงดี หาง่าย ซื้อสำเร็จรูปมาใช้ได้เลย มีหลากสีหลากทรง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คมกริช วังคะฮาต อายุ 33 ปี พ่อชื่อ เลอพงศ์ แม่ วิไลวรรณ บ้านคำชะอี มุกดาหาร 084 9243290
ทำงานอยู่เรือสินค้า เดินสมุทร ต่างประเทศ