วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550

บทบาทของสมาชิกครอบครัว

บทบาทของสมาชิกครอบครัว บทบาทของสมาชิกครอบครัวนั้นจะแยกกล่าวแต่ละบุคคลดังนี้

000001.ผู้ที่เป็นสามี

00000บทบาทต่อครอบครัว มีบทบาทในการเป็นผู้นำครอบครัว ต้องเป็นคนขยันทำมาหากิน “ เฮ่อตืนติ๊กลุกเช้า ” ( ให้ตื่นดึก ลุกเช้า ) “ ตึนมื้อเช้าเฮ้อได้ 9 ทางหยาม ” ( ตื่นเช้าให้ได้9 ทางไปหาอยู่หากิน หาเงินหาทอง ) ไม่เป็นคนละเลย ไม่นิ่งดูดาย “ มีเฮ่อก้มหน้าอยู่ด๋าย หงายตาอยู่เบา ” ( ไม่ให้ก้มหน้าอยู่ดาย หงายตาอยู่เปล่า ) ไปนั่นมานี่ให้รู้จักมองหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แล้วนำมาใช้ คือ “ ไป๋ด๋งอย่าได้มาเปา ไปเลาอย่าได้มาด๋าย เฮ่อฮักไม้ต๋ายมาแก้งก้นหม้อ ” ( ไปดงอย่ามาเปล่า ไปเหล่าอย่ามาดาย ให้หักไม้ตายมาชำระก้นหม้อ คือ เอามาเป็นฟืน ) ให้เป็นคนมีความเพียร ประกอบสิ่งใดก็ทำให้สำเร็จ คือ “ ค๋ำน้ำมิเฮ่อเอ็ดก้นฟูจกฮูมิเฮ่อเอ็ดมือสั้น”( ดำน้ำอย่าให้ก้นฟู ล้วงรูอย่าทำมือสั้น ) เหล่านี้ล้วนเป็นคำสั่งสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ตั้งแต่โบราณนานมา ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ โดยเฉพาะจะลอนเน้นในตอนผู้จะเป็นเจ้าบ่าวตอนเข้าพิธีแต่งงาน นอกจากนี้ยังต้องดูแลให้ความคุ้มครองแก่ภรรยาและบุตร คือ ปฏิบัติตนเป็นสามีที่ดีภรรยา เป็นพ่อที่ดีแก่บุตร ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ให้สมกับเป็นช้างเท้าหลัง

00000บทบาทต่อบุพการี ต้องให้ความเคารพ ให้การดูแลเอาใจใส่ให้การเลี้ยงดูพ่อแม่ของตนเองสมเองกับเป็นลูกที่ดี พ่อแม่ของภรรยา คือ พ่อตาและแม่ยาย ยิ่งให้ความยำเกรงเป็นพิเศษในอดีตถึงขั้นเอาผีเรือนมาว่าเลย ถ้าเขยทำไม่ดีไม่งามจะผิดผีเรือน ต้อง “ เม๋อ ” ( ปรับไหม ) กันละ สิ่งที่เขยทำแล้วผิดนั้นเป็นการกระทำต่อฝ่ายพ่อตา หรือกระทำที่บ้านพ่อตา เช่น ห้ามกระทำดังนี้บ้านพ่อตา ลับพร้าใส่หมวก ขัดมีดขัดฝักพร้า ร้องรำทำพลง ดีดสีตีเป่า เดินเตะเตี่ยวลอยชาย ( นุ่งผ้าขาวม้าไม่เหน็บชาย ) ใส่รองเท้าย่ำบนบ้าน แต่มีข้อเว้นคือ ตอนบ้านพ่อตามีงานจะเป็นงานศพหรืองานแต่ง การกระทำของลูกเขยต่อฝ่ายพ่อตาที่เป็นความผิด ได้แก่ จับมือถือแขนน้องสาวภรรยา ละลาบละล้วง กระด้างกระเดื่องต่อฝ่ายพ่อตา มีคำสอนอยู่ว่า “ เซ้อพ้อแม้ลุงต๋า โต๋ท้อก้อย น้อยท้อทู เฮ่อเคารพย๋ำแหยง ” ( เชื้อสายทางพ่อตาตัวเท่านิ้วก้อย น้อยเท่าไม้ตะเกียบ ให้เคารพยำเกรง ) ในปัจจุบันนี้ที่กล่าวมาทั้งหมดก็ยังถืออยู่ เพียงแต่ไม่ค่อยจะอ้างผี ( ข้อห้ามเหล่านี้ที่จริงก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมทั้งนั้น )

00000 2.บทบาทของภรรยา

00000บทบาทของภรรยาต่อครอบครัว ในครอบครัวผู้ไทยในอดีตผู้เป็นภรรยามีบทบาทไม่น้อยกว่าสามีเท่าไรถึงแม้จะเป็นผู้ “ อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเฮิน ” ( อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน )แต่รับภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง เช่น เลี้ยงลูก หุงหาอาหาร ตักน้ำตำข้าว “ น้ำมิเฮ่อฮาดแอง แกงมิเฮ่อฮาดหม้อ ” ( น้ำไม่ให้ขาดแอ่ง แกงมิให้ขาดหม้อ ) ซักเสื้อผ้า เก็บกวาดเหย้าเรือน จัดหาเครื่องนุ่งห่ม ตั้งแต่ อิ้วฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า ตัดเย็บ ( ด้วยมือ ) จนสำเร็จเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ ยังไปช่วยงานสามีนอกบ้านด้วย เช่น ถอนกล้า ดำนา เกี่ยวข้าว ฟาดข้าว งานไร่งานสวน ทั้งยังต้องปรนนิบัติพ่อปู่แม่ย่าอีก ( ดูเหมือนจะเป็นผู้รับภาระหนักกว่าสามีอีก ) ในปัจจุบันนี้ก็ยังเหมือนเดิม แต่มีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คือ ภรรยาบางคนก็ออกไปทำงานนอกบ้านเทียบเท่าสามี เช่น รับจ้างหาเงิน โดยฝากการเลี้ยงดูลูกให้กับปู่ ย่า ตา ยาย สาเหตุการเปลี่ยแปลงก็เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจรัดตัวถ้าปล่อยแต่สามีหาเลี้ยงครอบครัวก็คงจะลำบาก

00000บทบาทต่อชุมชน ในอดีตภรรยาไม่ค่อยจะมีบทบาทต่อชุมชน เพราะได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้หน้าที่แม่บ้าน ให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจและสังคม ถ้าขลุกแต่ในบ้านก็จะไม่ทันสมัย หูไม่กว้าง ตาไม่ไกล บางครั้งก็เสียผลประโยชน์ต่อครอบครัวด้วย เช่น การเป็นกลุ่มสมาชิกกลุ่มแม่บ้านต่างๆ การเข้าร่วมพัฒนาหมู่บ้าน การเข้ารับการอบรมความรู้ด้านต่างๆ เป็นต้น

00000บทบาทต่อบุตร ภรรยาจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกมากกว่าสามี เพราะเป็นผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการอบรมสั่งสอนลูกจะเป็นหน้าที่ของภรรยามากกว่า

00000บทบาทต่อญาติพี่น้อง บุพการี ให้ความอุปการะญาติพี่น้องทั้งฝ่ายตนและฝ่ายสามีเหมือนครอบครัวทั่วๆไป

00000การอบรมเลี้ยงดู การให้การเลี้ยงดูลูกของชาวผู้ไทยนั้น ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก คือ ในอดีตเป็นเรื่องของพ่อแม่ที่รับผิดชอบ แต่ผู้ที่รับภาระหนักที่สุดก็คือ แม่ การหาพี่เลี้ยงยังไม่มี ถ้าจำเป็นทั้งพ่อทั้งแม่มีภาระหนัก เช่น ต้องออกดำนาก็ให้ปู่ ย่า ตายาย หรือน้องสาว หรือลูกหลานที่โตพอที่จะดูแลเด็กได้แล้วเป็นผู้เลี้ยงดู แต่เป็นการชั่วคราว อาหารการกินสำหรับลูกนั้น แยกกล่าวเป็นระยะดังนี้ ( ไม่กล่าวถึงนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารหลักออยู่แล้ว )
00000- ทารกอายุประมาณ 1 สัปดาห์ ถึง 8 เดือน ให้กินข้าวหมก ข้าวหมกนี้มาจากข้าวเหนียวแม่จะเอามาเคี้ยวจนละเอียดแล้วคายใส่ใบตองไม้เป้า ( เป็นใบเรียบยาวกว้างหาได้ง่ายใกล้บ้าน )1 มื้ออาจเคี้ยว 5- 6 คำใหญ่ แล้วห่อแบบห่อหมก เอาไม้ปี้งหนีบแล้วไปย่างไฟจนสุก กลิ่นรถหอมหวานอร่อยมาก
00000- อายุประมาณ 9 เดือน ถึง 1 ปีครึ่งให้กินข้าวย่ำ ย่ำ ( เสียงนาสิก ) เป็นภาษาอีสานคือเคี้ยว การป้อนข้าวย่ำคือการที่แม่หรือพ่อเอาข้าวมาย่ำพร้อมกับกับคือเนื้อปลา ไก่ เป็นต้น ให้ละเอียดเข้ากันแล้วคายออกให้ลูกกิน ดังนั้นเมื่อลูกไม่อยู่ในโอวาทพ่อแม่มักจะดุด่าลูกว่า “ เสแฮงกูย่ำข้าวป้อนเห้าปากกู๋แซบแต๊ะ ยังได้คายเฮ่อกิ๋น...” ( เสียแรงกูเคียวข้าวป้อน เข้าปากกูแสนที่จะอร่อย ก็ยังคายให้กิน )
00000- อายุประมาณ 2 ปี ก็ให้อดนม
00000- อายุประมาณ 3 ปี ก็กินเองได้อย่างพ่อแม่เพียงแต่ลดรสเผ็ด

00000 เรื่องหลักโภชนาการไม่ต้องพูดถึง ได้อะไรก็กินไปตามมีตามเกิด ถ้าไม่มีบางครั้งพ่อแม่และลูกก็กิน ” ข้าวเนงเก๋อ ”( ข้าวคลุกเกลือ )หรือ “ ข้าวจี่ ”ดังนั้นเด็กสมัย เมื่อ 40 ก่อนนั้นจึงไม่ค่อยจะสมบูรณ์ ผู้ที่อยู่รออดได้ก็นับว่าแข็งแรงมาก มีเด็กจำนวนมากที่มีลักษณะร่างเล็ก พุงโร หัวโต ก้นลีบ เนื่องจากขาดสารอาหาร ประกอบกับโรคภัยไข้เจ็บก็มีมาก อัตราการตายของเด็กสูง เพราะสาเหตุดังกล่าว และยังไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ “ไอกรน บาดทะยัก วัณโรค คางทูม หัดเยอรมัน ต่างจากทุกวันนี้มาก การศึกษาเจริญขึ้น ทางการให้ความรู้เรื่องโภชนาการ พ่อแม่ก็เลี้ยงลูกอย่างถูกต้องตามหลักอนามัย ทำให้บรรดาลูกๆทั้งหลายจึงอ้วนท้วนสมบูรณ์แข็งแรง อีกประการหนึ่ง สมัยก่อนพ่อแม่เลี้ยงดูไม่ค่อยสมบูรณ์ เนื่องจากมีลูกมากปล่อยให้มีลูกตามธรรมชาติจนบางครอบครัวมีลูกถึงโหล ในปัจจุบันนี้มีการคลุมกำเนิดแต่ละครอบครัวมีลูก 2-3 คน ทำให้การเลี้ยงดูลูกได้ดีและอุดมสมบูรณ์ และยังรู้จักให้อาหารเสริมอีกด้วย

00000ในอดีตบทบาทของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ในการอบรมลูกหลานนี้ การอบรมไม่มีรูปแบบ การอบรมที่เแน่นอน กิจลักษณะคือไม่ได้เรียนมานั่งล้อมแล้วสอนเนื้อหาแต่จะอบรมสั่งสอนตามสถานการณ์ บางครั้งก็เอาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาสั่งมาสอน ยกเอาบุคคลอื่นมาอ้างหรือบางครั้งก็ยกเอานิทาน บางครั้งก็เปรยคำสุภาษิตโบราณขึ้นมาสั่งสอน บางครั้งก็ให้ไปสัมผัสสถานการณ์จริงที่อบรมสั่งสอนที่ใช้บ่อยที่สุดคือ ที่ พาข้าว เพราะตอนนั้นบรรดาลูกๆจะพร้อมกันที่นั้นการอบรมสั่งสอนนั้นแยกกล่าวดังนี้

00000ด้านศีลธรรมจรรยา ไม่ว่าลูกหญิงลูกชายจะได้รับการอบรมเหมือนกันหมด ( ต่างแต่ว่าใครจะฟังไม่ฟังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ) คือ ให้มีสัมมาคารวะทุกอริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน ให้สำรวม

00000ยืน ต้องดูกาลเทศะ ใกล้ผู้หลักผู้ใหญ่ห้ามยืนใกล้ ( มิเห้อยืนโท่มเก้าโท้ม “โห” ) ไม่ให้ยืนท่วมเกล้าท่วมหัว พูดกับผู้ใหญ่ถ้าผู้ใหญ่นั่งต้องนั่งพูดต้องนั่งพูดด้วย สำหรับหญิงจะเน้นพิเศษไปอีก คือ “ อย่ายื๋นเค่อปอง ” ( อย่ายืนใกล้ช่องกระดาน ( พื้นเรือน )) คงจะกลัวผู้ชายแอบเข้าไปส่องที่ใต้ถุน ไม่ให้ยืนกลางแดด ( ตอนเช้า หรือบ่าย ) มีคำสอนว่า “ ขี้ค้านอย่าเอ็ดนาฮิมทาง นุ้งซีนบ๋างอย่ายื๋นก๋างแดด” ( ขี้คร้านอย่าทำนาริมทาง นุ่งซิ่นบางอย่างยืนกลางแดด) เพราะถ้าแสงแดดเข้าทางหน้าหรือทางหลัง คนผู้ทางตรงข้ามจะมองเห็นเงาขาในผ้าถุง ในสมัยก่อนเรื่องจะเห็นขาขาวของหญิงสาวผู้ไทยยากมาก แค่เงาขาก็ยังปิดมิดเม้นยืนถ่างก็ยังถูกดุ
00000เดิน ไม่ให้เดินท้าวหนัก “ อย่างย้างสะลื๋งตึ๋งตั๋ง ” ( อย่าเดินแบบม้าดีดกะโหลก ) เดินผ่านหน้าผู้ใหญ่ต้องก้มตัวลง ถ้าอยู่ใกล้ให้เดินเข่าหรือคลาน “ ย้างก๋ายหน้าก๋ายต๋าผู้ใหญ่ พอก้มเห้อก้ม พอคานเห้อคาน ” ( เดินผ่านหน้าผ่านตาผู้ใหญ่ พอก้มให้ก้ม พอคลานให้คลาน )
00000นั่ง ชายให้นั่งขัดสมาธิ หญิงให้ “ นั่งตะมอบ ” ( นั่งพับเพียบ ) ถ้านั่งกินข้าว ( กับพื้น ) เป็นเด็กไม่ว่าหญิงหรือชายให้นั่งพับเพียบหมด
00000นอน หญิงจะห้ามนอนในที่เปิดเผย ถ้านอนที่เปิดเผยให้ระมัดระวังให้นอนตะแคง ผ้าถุงเหน็บหว่างขา ห้ามนอนหงาย ห้ามนอนใกล้ “ ป่อง ” ( ช่องพื้นกระดานพื้นเรือนหรือช่องข้างฝา ) กลัวจะถูกชาย “ จก ” ( ล้วง ) สำหรับผู้ชายไม่ค่อยมีการห้ามเรื่องการนอน จะนอนอิริยาบถไหนก็ได้ แต่ไม่ว่าหญิงหรือชายจะมีสถานที่ห้ามนอน คือ ใต้ขื่อบ้าน เพราะขื่อบ้านเป็นสิ่งที่วางศพ แม้แต่พาข้าวก็ห้ามวางใต้ขื่อ และอีกอย่างหนึ่งที่ห้าม คือ ห้ามนอนเอามือทับหน้าอก เพราะผีจะอำ (ผีทับ) พ่อแม่ถ้าเห็นลูกนอนหลับเอามือทับหน้าอกก็จะเอาลงให้ทันที ทุกวันนี้อิริยาบถที่กล่าวมานี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงประมาณ 20-30 ปีมานี้เอง เหตุของการเปลี่ยนแปลงเพราะอารยธรรมตะวันตกเข้ามา โดยผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ อย่างเช่น เห็นนางแบบเดินหรือยืนขากาง เหล่านี้เป็นต้น ก็พากันเอาอย่างยิ่งเอาอย่างนักร้องสตริงทุกวันนี้ก็ยิ่งมองดูแล้วรู้สึกหยาบกระด้างทั้งหญิงทั้งชาย ผู้หญิงขาดความละเมียดละไม ขาดความอ่อนโยน สมบัติกุลสตรีไทยกำลังจะหายไปจากประเทศไทย หญิงสาวบางคนนั่งพับเพียบไม่เป็นเลยก็มี น่าเป็นห่วงมาก

00000รื่องการพูดนั้น ชาวผู้ไทยเมื่อ 40 ปีย้อนลงไปยังอดีต สรรพนามบุรุษที่หนึ่งจะใช้คำว่า “ กู” บุรุษที่สองใช้คำว่า “มึง ” ลูกพูดกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็ใช้คำนี้ คำว่า “ ข้อย ” และ “ เจ้า ” เป็นคำพูดที่สุภาพมากและจะใช้อยู่ระหว่างบ่าวสาว คู่ผัวเมีย ลูกเขยกับพ่อตาแม่ยายและญาติผู้ใหญ่ฝ่ายภรรยา ลูกสะใภ้กับพ่อปู่แม่ย่าและญาติผู้ใหญ่ฝ่ายสามี จาก 40 ปีมาถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลง เพราะการศึกษาเจริญขึ้น คำว่า “ กู ”“ มึง ” ที่เด็กใช้กับพ่อแม่ไม่ได้ยินอีกแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: